วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555


12 เทคนิค พัฒนาทักษะการคิด


12 เทคนิค พัฒนาทักษะการคิดให้ลูก

         เนื่องจากการคิดเป็นรากฐานหรือแกนสำคัญของทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ดังนั้น ถ้าทักษะการคิดไม่ดี ทักษะทั้งสี่ด้านนี้ก็จะไม่ดีตามไปด้วย
มีรายงานการศึกษาเปรียบเทียบวิธีการสอนเด็กอนุบาลวัย 4 ขวบ ที่โรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งในเมือง
ชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าเมื่อเวลาผ่านไปเด็กกลุ่มที่ได้รับการสอนทักษะการคิดมีความสามารถทางด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนดีกว่าเด็กกลุ่มที่ไม่ได้รับการสอน ดังนั้น การพัฒนาคนจึงควรเริ่มพัฒนาที่ความคิดก่อน ความคิดจะช่วยสร้างทั้ง 4 ด้านที่กล่าวไว้ข้างต้นให้ก้าวหน้ามากขึ้นและยั่งยืน
          โดยทั่วไป เด็กแต่ละคนมีความสามารถในการคิดและการรับรู้ตั้งแต่วินาทีแรกที่ลืมตาดูโลก ซึ่งวิธีการคิด และการเรียนรู้ของเด็กจะเปลี่ยนแปลงไปตามระยะของพัฒนาการตามวัยและระดับการเจริญเติบโตทางสติปัญญา นอกจากนี้ ความสามารถในการสื่อสารของเด็กเป็นองค์ประกอบที่สำคัญติดตามเด็กตั้งแต่อายุ 2 ปี จนถึงอายุ 6 ปี พบว่าเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับการสื่อสาร รวมทั้งมีปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้มักจะมีความบกพร่องทางการคิด และมีปัญหาเกี่ยวกับการอ่านและการเขียน โดย เด็กจะอ่านและเขียนช้ากว่าและมีข้อจำกัดในการเชื่อมโยงความคิดและเหตุการณ์ต่าง ๆ มากกว่าเด็กที่ไม่มีปัญหา
          จะเห็นว่าการพัฒนาทักษะการคิดให้เด็กเป็นงานที่นับว่าจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเด็กควรได้รับการเตรียมและปูพื้นฐานการคิด ซึ่งเป็นแกนสำคัญของการพัฒนาทักษะอื่น ๆ ต่อไป ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการเตรียมพื้นฐานการคิดตลอดจนการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของเด็กให้ปรากฏ

เทคนิคสำคัญในการพัฒนาทักษะการคิด
          ในการพัฒนาทักษะการคิดหรือฝึกเด็กให้เป็นนักคิดที่ดีมีหลายวิธี ซึ่งการเลือกใช้วิธีใดนั้นอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและที่สำคัญจะต้องคำนึงปัจจัยในตัวเด็กเองด้วย เช่น ลักษณะนิสัยใจคอ สิ่งที่เด็กชอบ หรือสนใจระดับสติปัญญา เป็นต้น ซึ่งผู้ฝึกอาจพิจารณาเป็นราย ๆ ไปว่า ควรใช้วิธีใดจึงเหมาะสม
ทั้งนี้เพื่อให้ได้ประสิทธิผลจากการฝึกมากที่สุด ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างเทคนิคสำคัญในพัฒนาทักษะการคิด ให้เกิดขึ้น
  1. การฝึกควรเริ่มฝึกเด็กให้คิดจากสิ่งที่ง่ายก่อนแล้วจึงไปสิ่งที่ยากขึ้น
  2. เตรียมเด็กโดยการกระตุ้นหรือส่งเสริมให้เด็กสนใจสิ่งที่อยู่รอบตัว และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ
  3. การฝึกควรกำหนดจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ทุกครั้ง
  4. สร้างนิสัยความอยากรู้ อยากเห็น และการค้นคว้าฝ่ารู้ให้เด็ก
  5. ใช้หัวข้อที่เด็กคุ้นเคย รู้จัก หรือสนใจ แล้วกำหนดเป็นคำถาม
  6. สอนและฝึกให้เด็กรู้จักการเปรียบเทียบ ความเหมือน และความแตกต่าง
  7. ฝึกให้เด็กหัดเชื่อมโยงรูปภาพ สถานการณที่จำลองกับของจริง
  8. จัดเตรียมคำถามที่กระตุ้นให้เด็กหรือจินตนาการ และให้โอกาสเด้กได้สื้อออกมาถึงพลังความนึกคิดควบคู่ไปกับทักษะการแก้ปัญหา
  9. พัฒนาทักษะการคิดควบคู่ไปกับทักษะการแก้ปัญหา
  10. สนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กมีอิสระในการคิด การถาม และการแสดงออก
  11. สร้างความมั่นใจ พร้อมทั้งให้กำลังใจ
  12. ให้เวลาในการคิด ไม่เร่งรัด เพราะอาจทำให้เด็กเกิดความเครียด และไม่ควรจำกัดการคิดของเด็ก
           เทคนิคทั้ง 12 ข้อที่กล่าวมานี้จะช่วยให้การฝึกเด็กให้หัดคิดมีประสิทธิภาพ และพัฒนาเป็นนักคิดที่ดีต่อไป คุณพ่อคุณแม่ที่อยากให้ลูกเป็นนักคิดที่ดี ก็ต้องเตรียมลูกให้พร้อม และฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอตามที่ได้กล่าวไว้ ข้างต้นว่าวิธีการฝึกให้เด็กเป็นนักคิดสามารถทำได้หลายรูปแบบ ซึ่งจะเลือกใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ที่สำคัญคือวิธีการที่ใช้นั้นควรเอื้อให้เด็กได้เรียนรู้และมีโอกาสใช้ความคิดของตัวเอง และควรดำเนินไปตามธรรมชาติ ไม่เร่งรัด แต่มีความสม่ำเสมอต่อเนื่อง รวมทั้งต้องตอบสนองความต้องการตามวัยและพัฒนาการของเด็กเองด้วย